posttoday

มรดกไทยผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย ต่อยอด Soft Power "นครประวัติศาสตร์ศรีเทพ"

04 พฤษภาคม 2567

นักท่องเที่ยวเยือนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพครบ 1 ล้านคนภายใน 8 เดือน นับตั้งแต่ UNESCO ประกาศรับรองเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ในไทย จัดงานฉลองใหญ่ "ยลโขน มรดกโลกสัญจร" ผสานเทคโนโลยี Projection Mapping เข้ากับศิลปะวัฒนธรรมไทย ต่อยอด Soft Power นครประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่การแข่งขันบนเวทีโลกทวีความรุนแรง การส่งเสริมภาพลักษณ์และความนิยมในระดับนานาชาติ ถือเป็นเรื่องที่ผู้นำในทุกประเทศให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นผลดีต่อการขยายโอกาสทางการค้า ยังส่งผลดีต่อการเจรจาทางการทูต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลไกที่ถูกใช้มากที่สุดในปัจจุบันคือการผลักดัน “Soft Power” เครื่องมือทางยุทธศาสตร์เชิงวัฒนธรรมที่แผ่ขยายอิทธิพลดึงดูดผู้คนจากทุกประเทศ โดยไม่ต้องใช้อำนาจทางทหารหรือเศรษฐกิจ แต่สร้างแรงดึงดูดใจผ่านวัฒนธรรม สินค้า บริการ และวิถีชีวิต เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ความสำเร็จบนเวทีโลก

อำนาจแห่งการดึงดูดใจจากองค์ประกอบทางวัฒนธรรม ความเป็นมรดกโลก และคุณค่าทางจิตวิญญาณ ในเรื่องนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยเองก็มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมอันยาวนานและเป็นที่ยอมรับในสายตานานาชาติ ซึ่งหนึ่งในเครื่องพิสูจน์คือการที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ประกาศรับรองมรดกโลกถึง 7 แห่งในไทย โดยสถานที่ล่าสุด UNESCO เพิ่งประกาศให้คำรับรองไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 คือ “เมืองโบราณศรีเทพ” จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่งผลให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ในไทย และเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย ทั้งยังเปรียบเสมือนการตอกย้ำถึงคุณค่าความสำคัญในระดับสากลว่าสมควรแก่การได้รับการคุ้มครอง ดูแลรักษา เพื่อส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นต่อๆไป

มรดกไทยผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย ต่อยอด Soft Power \"นครประวัติศาสตร์ศรีเทพ\"

พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองกว่า 800  ปี

นอกจากประโยชน์ด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์แล้ว การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ยังดึงดูดความสนใจจากนานาชาติ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระตุ้นเม็ดเงินในท้องถิ่นนั้นๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และแน่นอนว่า หลังจาก “เมืองโบราณศรีเทพ” ได้รับการรับรองจาก UNESCO พลังแห่งมวลมหาประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างเดินทางไปเยี่ยมชมเมืองโบราณอันเก่าแก่ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ จนตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

มรดกไทยผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย ต่อยอด Soft Power \"นครประวัติศาสตร์ศรีเทพ\"

จากข้อมูลล่าสุด จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งเมืองโบราณศรีเทพเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ในเวลาเพียง 8 เดือน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพแล้วกว่า 1 ล้านคน

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย และจำนวนนักท่องเที่ยวที่แตะ 1 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงจัดกิจกรรมครั้งใหญ่ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวยามค่ำคืน “Si Thep World Heritage Illumination 2024” นิทรรศการเนื่องในวาระครบ 120 ปี แห่งการค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ด้วยเทคนิคการฉาย Projection Mapping หรือการฉายแสงเลเซอร์ และอุโมงค์แสงภาพสันนิษฐานของโบราณสถานเขาคลังนอก พร้อมการแสดงโขนในสถานที่ประวัติศาสตร์จริง ณ โบราณสถานเขาคลังนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 3 – 5 พฤษภาคม 2567

มรดกไทยผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย ต่อยอด Soft Power \"นครประวัติศาสตร์ศรีเทพ\"

 

Projection Mapping ผสานเทคโนโลยี เนรมิตโบราณสถานให้มีชีวิตชีวา 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกแง่มุมของชีวิต ดังนั้นการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับมรดกโลกทางวัฒนธรรมจึงกลายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้  และการท่องเที่ยวให้น่าตื่นตาตื่นใจ

เทคนิคการฉาย Projection Mapping หรือการฉายภาพลงบนตัววัตถุและสถานที่ต่าง ๆ กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้จัดแสดงนิทรรศการ เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความมีมิติ สร้างสีสันให้น่าสนใจผ่านความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีและการใช้แสง สี เสียง แล้ว ยังช่วยนำเสนอเรื่องราวให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชม ทุกเพศทุกวัย 

เทคนิคดังกล่าวยังช่วยยกระดับการนำเสนอนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานให้ทันสมัย น่าสนใจ และดึงดูดผู้ชมให้สนใจเรียนรู้เรื่องราวมรดกโลกได้มากขึ้น แต่ยังคงรักษาคุณค่าและเอกลักษณ์ของโบราณสถานไว้ได้อย่างดี เช่นเดียวกับในงาน “Si Thep World Heritage Illumination 2024” ด้วยการฉายแสงเลเซอร์ และอุโมงค์แสงเปลี่ยนโบราณสถานอันเก่าแก่ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะสุดอลังการ สร้างบรรยากาศและประสบการณ์พิเศษที่แตกต่างไปจากการรับชมแบบธรรมดา

มรดกไทยผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย ต่อยอด Soft Power \"นครประวัติศาสตร์ศรีเทพ\"

 

ยลโขน มรดกโลกสัญจร ต่อยอด Soft Power นครประวัติศาสตร์ศรีเทพ

โขนเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยการแสดงโขนถูกพัฒนาขึ้นเป็นลำดับรวมถึงปรับรูปแบบให้สอดคล้องตามยุคสมัยเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชม แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของการแสดงทั้งความประณีตที่ส่งผ่านเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับศีรษะ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ รวมถึงผสานศิลปะหลายแขนงเข้าด้วยกันตั้งแต่การร้อง รำ ดนตรี วรรณกรรม และงานหัตถศิลป์

UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “โขน” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (ประเพณี ความรู้ ภูมิปัญญา ทักษะ และการแสดงออกทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งไม่สามารถจับต้องได้ แต่สามารถสัมผัสได้ผ่านประสบการณ์ การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วม) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "Khon, masked dance drama in Thailand" ซึ่งนับเป็นการขึ้นทะเบียนมรดก ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้รายการแรกของประเทศไทย และเมื่อได้รับการส่งเสริม เผยแพร่สู่สายตาชาวโลกย่อมสร้างความชื่นชมและประทับใจแก่ชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี นับเป็น Soft Power ที่โดดเด่นประการหนึ่ง

การจัดแสดงโขนในสถานที่ประวัติศาสตร์อย่างเมืองโบราณศรีเทพ ที่ผสานเข้ากับเทคโนโลยีการใช้แสง สี เสียงภายในงาน “Si Thep World Heritage Illumination 2024” จึงถือเป็นการรวม 2 มรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ UNESCO ให้การรับรองเข้าด้วยกัน ซึ่งถือเป็นช่องทางและโอกาสสำคัญในการผลักดัน soft power ไทยแก่สายตานานาชาติด้วยการนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมอันมีเอกลักษณ์ผ่านนวัตกรรมร่วมสมัย

มรดกไทยผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย ต่อยอด Soft Power \"นครประวัติศาสตร์ศรีเทพ\"

ปลุกคนแคระ ข้ามเวลา 1,700 ปี ให้กลายเป็นลายกางเกงสะท้อนเอกลักษณ์

กระแสความนิยม "กางเกงช้าง” เรียกได้ว่าฮอตฮิตติดเทรนด์ข้ามประเทศไปแล้ว จนแต่ละจังหวัดเริ่มผุดไอเดียออกแบบลายกางเกงสะท้อนเอกลักษณ์หวังผลักดันให้เป็น Soft Power ประจำจังหวัด ซึ่งทางสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ก็ไม่น้อยหน้า เปิดตัว “กางเกงลายคนแคระศรีเทพ”ข้ามเวลา 1,700 ปี มาอยู่บนลวดลายกางเกงอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดร่วมกับ มะขาม ภูเขา และเพชรแห่งความลับที่หมายถึงทรัพย์ในดินสินในน้ำอันอุดมสมบูรณ์

ตำนานคนแคระศรีเทพเป็นศิลปะสมัยทราวดี มีลักษณะเด่นต่างจากที่อื่นซึ่งมีคนแคระเพียงหน้าเดียวคือหน้าคน แต่ที่ศรีเทพมีถึงห้าหน้า ได้แก่ แคระคน แคระสิงห์ แคระลิง แคระวัว และแคระช้าง มีลักษณะอ้วน เตี้ย พุงพลุ้ย ตาโปน กำลังนั่งแยกขาชันเข่าพร้อมใช้ท่อนแขนแบกฐานสถาปัตยกรรมไว้ ทำให้หลายคนเรียกว่า “คนแคระแบก”

ยิ่งไปกว่านั้น สถานทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น ยังเลือกให้กางเกงคนแคระศรีเทพเป็น 1 ใน 27 จังหวัดที่ได้ร่วมจัดแสดง “กางเกงประจำจังหวัดของไทย” ในงาน Thai Festival Japan ครั้งที่ 24 ณ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2024 นี้

มรดกไทยผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย ต่อยอด Soft Power \"นครประวัติศาสตร์ศรีเทพ\"

 

“ไอศกรีม 3 มิติ” Soft Power กินได้

“ไอศกรีม 3 มิติ” จัดเป็นหนึ่งใน Soft Power กินได้ของไทย ที่ยังคงแฝงไว้ซึ่งเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์  โดยเริ่มจาก “ไอศกรีม 3 มิติ” ลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ จนกลายเป็นไวรัลเมื่อปี 2566 ไปแล้ว โดยในปีนี้กระแสไอศกรีม 3 มิติยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง 

สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งเริ่มผุดไอเดียไอศกรีม 3 มิติ ที่มีลวดลายสะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ เช่นเดียวกับ “ไอศกรีมโบราณ แคระแบกศรีเทพ” ไอศกรีม 3 มิติที่ออกแบบลวดลายจากรูปสลักที่พบในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ไม่ว่าจะเป็นภาพคนแคระ หรือลาดลายตามปรางค์ต่างๆ โดยในปัจจุบันผลิตมาทั้งหมด 8 รส 8 ลาย ได้แก่ รสมะขาม, น้ำผึ้งมะนาว, ช็อกโกแลต, สตรอเบอร์รี่, มะพร้าวอ่อน, นมเย็น, ชาไทย และมันม่วง ในราคาจำหน่ายแท่งละ 50 บาท

Soft Power นั้นสามารถปรากฏได้ในหลายแง่มุม หลากมิติ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภาพยนตร์ สินค้าแฟชั่น หรืออาหารเท่านั้น ด้วยคุณค่าของ “อำนาจเชิงวัฒนธรรม” ที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดผลดีกับประเทศได้อย่างมหาศาล การอนุรักษ์และเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกจึงเป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยสร้างความนิยมชมชอบ เสริมศักยภาพทางวัฒนธรรมของไทยให้ได้รับการยอมรับในเวทีโลก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคครัวเรือนถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการนำเสนอให้ปรากฏต่อสายตาประชาคมโลกมากขึ้น

มรดกไทยผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย ต่อยอด Soft Power \"นครประวัติศาสตร์ศรีเทพ\"

 

ทำไมต้อง “ศรีเทพ”?

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ 10 แห่งของไทยปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร  กระทรวงวัฒนธรรม  โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.  2527 ส่วนชื่อเรียก “ศรีเทพ”  นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการที่เพชรบูรณ์ในปี พ.ศ. 2447 และได้พบกับเมืองโบราณร้างขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำป่าสัก สันนิษฐานว่าเป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรบุรี 

อย่างไรก็ตาม ร่องรอยเดียวที่ปรากฎความเชื่อมโยงระหว่างเมืองโบราณศรีเทพ (สมัยทวารวดี) และเมืองวิเชียรบุรี (สมัยอยุธยา) คือชื่อเดิมของตำแหน่งเจ้าเมืองวิเชียรบุรี “พระศรีถมอรัตน์” ที่สอดคล้องกับชื่อ “เขาถมอรัตน์” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณศรีเทพเท่านั้น

แม้คำว่า “ศรีเทพ” จะปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณหลายฉบับ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานชื่อเดิมของเมือง เนื่องจากเป็นเมืองที่ค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้างไปจากโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรือง เมืองโบราณแห่งนี้จึงยังคงชื่อศรีเทพและถูกเรียกขานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน